ยินดีต้อบรับสู่บล็อก "ครูเพ็ชร" Petch-t4.Blogspot.com

07 พฤศจิกายน 2562



ชื่อเรื่อง :    การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์ เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัติ
                อังกะลุงราว สำหรับนักเรียนในกิจกรรมชุมนุม โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร)
ผู้ศึกษา :    นายจิรัฏฐ์   เล็กรังสรรค์
ปีที่ศึกษา :   2561

บทคัดย่อ

               กิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์ เป็นการจัดการเรียนรูเพื่อพัฒนาทักษะปฏิบัติตามลำดับขั้น ซึ่งเริ่มจากระดับที่ซับซ้อนน้อยไปถึงระดับที่ซับซ้อนมาก นักเรียนได้ปฏิบัติและร่วมกิจกรรมทุกขั้นการสอน  การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์ เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัติอังกะลุงราว  สำหรับนักเรียนในกิจกรรมชุมนุม โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์  80/80  2)  ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการพัฒนาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนที่เป็นสมาชิกกิจกรรมชุมนุมอังกะลุงไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 37 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์ จำนวน 7 แผน เวลา 14 ชั่วโมง มีค่าความเหมาะสมเท่ากับ 4.51 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก  1 ฉบับ จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่  0.21  ถึง 0.76  ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ  0.78 แบบประเมินทักษะการปฏิบัติอังกะลุงราวรายบุคคล 3 ด้านได้แก่ ด้านการใช้อุปกรณ์บรรเลง 3 รายการ ด้านลักษณะท่าทางการบรรเลง  3 รายการ  และด้านคุณภาพการบรรเลง 4 รายการ ทุกรายการมีความสอดคล้อง (IOC)  เท่ากับ  1.00 แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)  5 ระดับ  จำนวน 10 ข้อ  มีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.40 ถึง  0.74 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ  0.81 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
               ผลการศึกษา  สรุปผลได้ดังนี้
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์  เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัติอังกะลุงราว สำหรับนักเรียนในกิจกรรมชุมนุม โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) มีประสิทธิภาพเท่ากับ  83.00/81.53 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์  80/80 ที่ตั้งไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์ เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัติอังกะลุงราว  สำหรับนักเรียนในกิจกรรมชุมนุม โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) มีค่าเท่ากับ  0.6931
3. นักเรียนในกิจกรรมชุมนุมที่เรียนด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์                   เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัติอังกะลุงราว  มีความพึงพอใจ  โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.22)
โดยสรุปการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์ เพื่อส่งเสริมทักษะการปฏิบัติอังกะลุงราว สำหรับนักเรียนในกิจกรรมชุมนุม โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) มีประสิทธิภาพประสิทธิผล สามารถแก้ปัญหาและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดังนั้นกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของแฮร์โรว์ (Harrow) จึงมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนต่อไป

08 มกราคม 2555

วิชาดนตรี

ธรรมชาติและความสำคัญของสาระการเรียนรู้ศิลปะ

.....กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะเป็นกลุ่มสาระที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการทางศิลปะ ชื่นชมความงาม มีสุนทรียภาพ ความมีคุณค่า ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ กิจกรรมทางศิลปะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้

สาระสำคัญ

.....กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ มีทักษะวิธีการทางศิลปะ เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปะ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกอย่างอิสระในศิลปะแขนงต่างๆ ประกอบด้วย

.....ดนตรี มีความรู้ความเข้าใจองค์ประกอบดนตรีแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ทางดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชมและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าดนตรีที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และสากล ร้องเพลง และเล่นดนตรีในรูปแบบต่างๆ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเสียงดนตรี แสดงความรู้สึกที่มีต่อดนตรีในเชิงสุนทรียะ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับประเพณีวัฒนธรรม และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

สาระและมาตรฐานการเรียนรู้

มาตรฐาน ศ ๒.๑ เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี     ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

มาตรฐาน ศ ๒.๒ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรีที่เป็น มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล